About Me

รูปภาพของฉัน
ดีแต่พอตัว ชั่วแต่พอประมาณ รั่ว แต่ไม่ร่าน ไม่พาล แต่กวน

รู้ทัน กันได้ กับกฎหมายไทย 20.เหตุที่ทนายเรียกค่าว่าความแพง

เหตุที่ทนายเรียกค่าว่าความแพง


ท่านเคยสงสัยบางไหมว่า ทำไมทนายจึงเรียกค่าว่าความแพงนัก

เหตุที่ทนายความเรียกค่าว่าความแพง ส่วนหนึ่งมาจากขั้นตอนการดำเนินงานของทนายความ ในการฟ้องคดีแต่ละคดีมีความยุ่งยากซับซ้อนแตกต่างกันออกไป

ตั้งแต่เริ่มต้นวิเคราะห์พยานหลักฐาน การตั้งประเด็นที่จะฟ้อง รวมถึงข้อหาที่จะฟ้อง ทั้งนี้ หากไม่ดูให้ดีแล้ว บางครั้งอาจจะทำให้แพ้คดีได้ง่ายๆ

เมื่อตั้งประเด็นแล้ว ยังต้องไปค้นคำพิพากษาศาลฎีกาเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆว่า เคยมีคำพิพากษาของศาลฎีกาเกี่ยวกับเรื่องประเด็นที่จะฟ้องหรือไม่ ถ้ามี ศาลฎีกาวินิจฉัยไว้อย่างไร

เมื่อรวบรวมข้อมูลต่างๆได้แล้ว ก็จะต้องมาดูเขตอำนาจศาลว่าจะต้องยื่นฟ้องที่ศาลไหน ร่างคำฟ้อง เรียบเรียงถ้อยคำให้รัดกุม มิให้มีช่องโหว่

เสร็จแล้วก็จะไปดำเนินการยื่นฟ้อง หลังจากยื่นฟ้องแล้ว จะต้องคอยไปศาลเพื่อดูแลติดตามการส่งหมายให้จำเลย จนกว่าจะถึงวันนัดพิจารณา การดำเนินการทั้งหลายที่กล่าวมา ล้วนแต่ต้องมีค่าใช้จ่ายทั้งนั้น ไม่ว่าค่ารถ ค่ากิน บางคดีที่จำเป็นต้องใช้รูปประกอบเป็นพยานหลักฐาน ก็จะต้องมีค่าฟิล์ม ค่าล้างรูป ตามมาอีก

ที่กล่าวมาเป็นในส่วนของการดำเนินการ ซึ่งยังมีในส่วนของความรับผิดชอบของงานอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งในคดีหนึ่งๆนั้นจำเป็นจะต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร

การใช้ระยะเวลาเร็วที่สุดที่ผมเคยทำมาก็ประมาณ 3 เดือน แต่นั่นหมายถึงว่าจำเลยไม่ได้สู้คดี และศาลได้มีคำพิพากษาเลย แต่ถ้าจำเลยสู้คดี อาจจะต้องใช้เวลามากกว่า บางคดี 1 ปี บางคดีก็มากกว่า

แล้วคุณคิดดู ถ้าเรื่องหนึ่งใช้ระยะเวลานานเป็นปี แล้วรายได้ไม่คุ้มกับงานที่ทำไป จะมีสักกี่คนที่จะทำงานจนสำเร็จ ฉะนั้น จึงมีส่วนของค่าความรับผิดชอบเพิ่มเติมเข้ามา คุณรู้ไหมว่าในแต่ละปี คนที่เรียนจบทางด้านนิติศาสตร์มีจำนวนไม่น้อย แต่คนเหล่านี้ส่วนหนึ่งไม่ประกอบอาชีพเป็นทนาย อีกส่วนหนึ่งเริ่มต้นประกอบอาชีพเป็นทนาย แต่ก็ต้องเลิกลาไป ทั้งนี้ ก็เพราะในตอนเริ่มต้นอาชีพใหม่ ยังขาดความเชื่อถือจากลูกความ ไม่ค่อยจะมีคดีให้ทำ บางคนต้องการทำถึงขนาดที่ว่ายอมเรียกค่าว่าความถูกๆเพื่อที่จะได้มีคดีทำ แต่ผลสุดท้ายก็ไปไม่รอด ต้องออกไปประกอบอาชีพอื่นๆ

ปัจจุบันมีทนายความที่จดทะเบียนเป็นทนายความทั่วประเทศประมาณสามหมื่นกว่าคน แต่ประกอบอาชีพทนายความจริงๆมีประมาณแค่หมื่นเศษๆเท่านั้น

สำหรับขั้นตอนการฟ้องคดีนั้น ผมได้แสดงเอาไว้ด้านล่างนี้ เป็นขั้นตอนเพียงคร่าวๆ

1. รวบรวมข้อมูล เอกสารหลักฐานต่างๆ

2. ร่างคำฟ้อง

3. ไปศาลครั้งที่ 1 ยื่นฟ้องพร้อมขอให้ศาลส่งหมายเรียกพร้อมสำเนาคำฟ้องให้จำเลย

4. ไปศาลครั้งที่ 2 ตรวจดูสำนวนว่าคำฟ้องที่ยื่นไปศาลรับคำฟ้องหรือไม่ และกรณีที่ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ปิดหมายเรียกไว้ที่ภูมิลำเนาของจำเลย กรณีที่ไม่มีผู้ใดรับหมายนั้น ศาลสั่งอนุญาตหรือไม่ หากไม่อนุญาตก็จะต้องดำเนินการแก้ไขต่อไป

5. ไปศาลครั้งที่ 3 ดูผลหมายว่าส่งได้หรือไม่ หากไปครั้งนี้ผลการส่งหมายยังไม่มา จะต้องไปใหม่อีกหนึ่งรอบ หากส่งได้แล้วก็จะดูว่าจำเลยรับหมายหรือปิดหมายไว้

6. ไปครั้งที่ 4 หลังจากวันที่ครบกำหนดที่จำเลยจะยื่นคำให้การได้ เพื่อดูว่าจำเลยยื่นคำให้การหรือไม่ หากจำเลยไม่ยื่นคำให้การก็จะต้องยื่นคำร้องขอศาลมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขอให้ศาลมีคำพิพากษา

7. ไปครั้งที่ 5 เข้าสู่กระบวนพิจารณาครั้งแรก หากคดีไม่มีข้อยุ่งยาก ศาลก็จะนัดให้สืบพยานโจทก์เลย แต่ถ้าคดีมีข้อยุ่งยาก ศาลก็จะนัดเป็นวันชี้สองสถาน (วันชี้สองสถานคือ วันที่ศาลจะมากำหนดว่าคดีนั้นมีประเด็นข้อพิพาทกันเรื่องใด แยกเป็นข้อๆ และจะกำหนดว่าให้ฝ่ายใดเป็นฝ่ายที่นำพยานมาสืบก่อน) และกำหนดวันนัดครั้งต่อไป ส่วนใหญ่จะอยู่ในระหว่างระยะเวลาประมาณ เดือนครึ่ง ถึงสองเดือน หากศาลใดที่มีคดีค้างการพิจารณาอยู่มาก บางครั้งอาจจะต้องกำหนดนัดกันนานถึง 3 - 4 เดือนได้

8. ไปครั้งที่ 6 จนเสร็จสิ้นคดี ระยะเวลาเท่าใด ขึ้นอยู่กับจำนวนพยานที่แต่ละฝ่ายจะนำเข้าสืบ ส่วนใหญ่จะนำพยานมาเพียงแค่ปากเดียวต่อหนึ่งนัด เว้นแต่จะสืบพยานเพียงสั้นๆ ไม่ต้องถามหลายข้อ หรือไม่ซับซ้อนอะไร ก็อาจจะนำมาทีเดียว 2 - 3 ปากในหนึ่งนัดก็ได้ เหตุที่ทนายนำพยานมาเพียงแค่ปากเดียวในการสืบพยานหนึ่งนัด ก็เพราะว่าในการพิจารณาคดีของศาลในแต่ละวัน ศาลจะต้องพิจารณาทีเดียว 4-5 คดีในแต่ละช่วงของวัน คือช่วงเช้า และช่วงบ่าย หากทนายแต่ละคนนำพยานมาสืบกันทีเดียวหลายปาก ศาลย่อมไม่สามารถพิจารณาคดีได้หมด




ขอบคุณข้อมูลดีดีจาก tanay.hypermart.net

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.
UltarjanG

music


Followers